top of page

ตั๋วเครื่องบินจะแพงขึ้นกี่ % ในยุคโควิด



เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าในยุคโควิด-19 แบบนี้ การที่สายการบินเค้าต้องขายตั๋วแบบ 1 ที่นั่งเว้น 1 ที่นั่งนั้น รายได้เค้าหายกันไปมากน้อยเท่าไหร่ และถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป แน่นอนว่าทางสายการบินเค้าจะต้องเพิ่มค่าตั๋วให้สูงขึ้นเพื่อมาชดเชยกับส่วนต่างของที่นั่งที่หายไปแน่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบย่อมตกอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้อง “จ่ายค่าตั๋วแพงขึ้น” อย่างหลีกเลี้ยงไม่ได้


และพอดีกับที่เมื่อวันก่อนได้ไปเห็นข่าวๆ นึง ที่มีหน่วยงานหนึ่งออกมาเรียกร้องให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ออกแนวทางกำกับอัตราการขึ้นราคาค่าโดยสารให้สอดคล้องกับจำนวนที่นั่งโดยสารจริงที่ลดลง เช่น “ถ้ามีจำนวนที่นั่งหายไปร้อยละ 30 ก็ควรอนุญาตให้ปรับราคาขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 30” เป็นต้น


เลยเป็นที่มาของการหาคำตอบที่ว่า การที่สายการบินมีจำนวนที่นั่งหายไปจำนวน33% นั่น ถ้าสายการบินขึ้นค่าตั๋วแค่ 33% เท่ากัน จะทำให้รายได้เค้ากลับมาเท่าเดิมหรือไม่ ?


ซึ่งจากตารางที่เราทำการเทียบบัญญัติไตรยางศ์แบบง่ายๆ ให้ดู โดยจำลองด้วยเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง จากเดิมถ้าขายตั๋วใบละ 1,000 บาท/ที่นั่ง เท่ากับว่าทางสายการบินจะมีรายรับอยู่ที่ 180,000 บาท/เที่ยวบิน แต่ถ้าหากว่าต้องขายตั๋วตามระเบียบใหม่ของ CAAT คือเหลือให้สามารถขายได้จริงเพียง 120 ที่นั่งเท่านั้น จะเห็นว่าแท้จริงแล้ว การให้สายการบินขึ้นราคาตั๋วสูงขึ้นในอัตรา 33% เท่ากันตามที่มีหน่วยงานหนึ่งเรียกร้องมา ทางสายการบินจะสูญเสียรายรับที่เคยมีไปทันที่ 11.3%


ในทางกลับกัน ถ้าหากสายการบินต้องการกลับมามีรายรับเท่าเดิมเหมือนเวลาขายตั๋วได้เต็มลำทุกที่นั่ง สายการบินจำเป็นต้องเพิ่มค่าตั๋วขึ้นมาสูงถึง 50% ด้วยกัน จึงจะสามารถชดเชยกับส่วนต่างของที่นั่งที่หายไปได้


หรือเรียกง่ายๆ ว่าผู้โดยสารต้องจ่ายค่าตั๋วแพงขึ้นไปอีกครึ่งนึง เช่นจากเดิมเคยจ่าย 1,000 บาท/เที่ยวบิน จะกลายมาเป็น 1,500 บาท/เที่ยวบินแทน


แล้วแบบนี้ เท่าไหร่ละถึงจะเรียกว่าพอดี ?


ถ้าให้แฟร์ๆ เราคิดว่าราคาที่สายการบินสามารถขายได้ครบทุกที่นั่งเหมือนในอดีตนั้น คือราคาที่สายการบินสามารถครอบคลุมต้นทุนการดำเนินงานต่างๆ ได้ครบทั้งหมด และสามารถทำกำไรได้แล้ว ดังนั้น ถ้าจะให้ค่าตั๋วขึ้นสูงถึง 50% ไปให้เท่าเดิมเลยก็ดูจะโหดร้ายสำหรับผู้บริโภคไปซะหน่อย แต่ถ้าให้ขึ้นแค่เพียง 33% ก็น่าสงสารสายการบินที่จะต้องมีรายได้ลดลง แถมยังต้องแบกรับภาระต่างๆ เพิ่มขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะค่าแรงพนักงาน ค่าเช่า/ค่าจอดเครื่องบินอีกหลายสิบลำที่ยังไม่สามารถออกไปบินได้ ดังนั้น ในยุคถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบนี้ เราคิดว่าการขึ้นราคาอยู่ที่ประมาณ 40-45% น่าจะเป็นตัวเลขที่ดูเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะผู้บริโภคหรือสายการบิน ยอมพบกันที่ครึ่งทาง


เพราะเรื่องนึงที่ต้องไม่ลืมคือ ถ้าสายการบินอยู่ไม่ได้ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็คงจะไม่มีเครื่องบินให้นั่งไปเที่ยวไหนเช่นกัน รวมทั้งจะไม่เกิดการแข่งขันในตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีตัวเลือกที่หลากหลายต่อการใช้บริการ ทั้งในแง่ของคุณภาพ ความสะดวกสบาย หรือราคา


แต่ถ้าใครยังไม่มีความจำเป็นต้องไปไหนจริงๆ ก็อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กันก่อนแล้วกันเนอะ #แล้วเราจะผ่านมันไปด้วยกัน


หมายเหตุ:

  • เรากำหนดให้อัตราค่าโดยสารเท่ากันทุกที่นั่ง เพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ แม้ว่าความเป็นจริง ราคาตั๋วจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นตามขั้นบันไดของโครงสร้างราคาตั๋วก็ตาม

  • เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบง่ายๆ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงใดๆ ได้ทั้งนั้น

  • บทความนี้จัดทำขึ้นในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19





ดู 1,101 ครั้ง

Comments


bottom of page